TCCC คืออะไร มีที่มาอย่างไร
Thailand Consensus on Cleft and Craniofacial Care หรือ TCCC เป็นแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะ ที่จัดทำขึ้นโดยสมาคมความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะ แห่งประเทศไทย โดยอาศัยความเห็นของตัวแทนจากสมาคมวิชาชีพในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ความคิดที่จะมีแนวทางการดูแลผู้ป่วยเกิดขึ้นหลังการก่อตั้งสมาคมฯเพียงไม่กี่ปี แต่เพิ่งจะมาประสบความสำเร็จได้ในวาระของกรรมการบริหารสมาคมฯ ปี พ.ศ. 2562-2564 นำโดยรศ. นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ นายกสมาคม
เมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมในปีพ.ศ. 2562 รศ. นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ ได้พูดคุยกับกรรมการบริหารทุกท่านก่อนเริ่มทำงาน  หนึ่งในคณะกรรมการบริหาร คือ อ. นพ.สรายุทธ ดำรงวงศ์ศิริ ศัลยแพทย์ตกแต่งภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เสนอให้มีการจัดทำ protocol กลางสำหรับการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ในประเทศไทย ซึ่งตรงกับภารกิจหลักที่รศ. นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ได้ประกาศไว้และได้เคยให้ความเห็นไว้ในการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมหลาย ๆ ครั้งก่อนหน้า
รศ. นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ จึงได้ปรึกษากับคณะกรรมการบริหาร ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ และตัวแทนศูนย์การรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่หลาย ๆ ท่าน จนสามารถรวบรวมแนวทางการดูแลผู้ป่วยจากแหล่งต่าง ๆ นำไปให้กรรมการบริหารอีกท่านหนึ่งคือ ผศ. นพ.ศรัณย์ วรศักดิ์วุฒิพงษ์ ผู้อำนวยการสถานรักษาแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับอ. นพ.สรายุทธ ดำรงวงศ์ศิริ ทำการปรับรวมออกมาเป็นร่างแนวทางการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ได้สำเร็จในช่วงเดือนตุลาคม 2563
จากนั้นคณะกรรมการบริหารสมาคมโดยนายกสมาคม ได้ทำการเรียนเชิญอย่างเป็นทางการพร้อมส่งร่างแนวทางการดูแลฯ ไปยังนายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่ง นายกสมาคมศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ นายกสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย นายกสมาคมโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูดแห่งประเทศไทย นายกสภาการพยาบาล ประธานราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย และประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ขอให้เข้าร่วมการอภิปรายในเรื่องนี้โดยเฉพาะในการประชุมวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563
ในการประชุมวิชาการประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยวิทยากร 9 ท่าน ประธานการประชุม ผศ. นพ.เฉลิมพงษ์ ฉัตรดอกไม้ไพร และผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน มีการอภิปรายอย่างเข้มข้นในแง่มุมต่าง ๆ ถึงแนวทางที่จะเหมาะสมสำหรับคนไทยและประเทศไทยในการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่
แม้ว่าการอภิปรายในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 จะสิ้นสุดลงที่อายุ(ผู้ป่วย) 18 เดือน เนื่องจากข้อจำกัดของเวลา แต่เราก็ประสบความสำเร็จ เกิดแนวทางการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย Protocol ฉบับนี้ถูกนำเสนอให้คณะกรรมการบริหารสมาคมพิจารณาอีกครั้ง และกำลังอยู่ในการพิจารณาของสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ โดยคาดว่าจะสามารถบรรลุเป็นฉบับสมบูรณ์ในปี 2564
ส่วนแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ปากแหว่งเพดานโหว่ คงจะต้องเป็นงานในอนาคตสำหรับคณะกรรมการบริหารวาระถัดไป
10 ธันวาคม 2563
การนำ TCCC ไปใช้
Thailand Consensus on Cleft and Craniofacial Care หรือ TCCC เป็นแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยได้ใช้เป็นแนวทางในการดูแลตนเอง เพื่อให้ครอบครัวผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
TCCC ไม่ใช่ข้อบังคับ การปฏิบัติตามหรือนำ TCCC ไปใช้ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยจะหายจากความพิการหรือปลอดจากปัญหาต่าง ๆ การไม่ปฏิบัติตามแนวทางใน TCCC ไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะความผิดปกติที่พบในผู้ป่วยแต่ละคนมีความหลากหลายแตกต่างกันไป ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญและการดูแลรักษาที่เฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคล
แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยใน TCCC จะแสดงไว้ตั้งแต่ก่อนการปฏิสนธิ ช่วงตั้งครรภ์ จนถึงหลังคลอด โดยแยกเป็นช่วงอายุจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ การดูแลรักษาในแต่ละช่วงจะแบ่งแยกเป็นการดูแลรักษาขั้นพื้นฐาน (minimum) ซึ่งสามารถปรับใช้ได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย และการดูแลรักษาที่แนะนำ (recommended) ซึ่งเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีความพร้อมทางการแพทย์สูง
10 ธันวาคม 2563