การดูแลที่ดีสำหรับกลุ่มผู้ป่วยพิการแต่กำเนิดกลุ่มนี้ องค์การอนามัยโลกได้เสนอให้ใช้กรอบแนวคิดของ WHO-Community based Rehabilitation Guidelines–2010 (EinarHelander: Prejudice and Dignity. An introduction to community-based rehabilitation. 1999-UN Development Program) ซึ่งเป็นการดูแลที่สมบูรณ์แบบ (Comprehensive Cleft Care Services) ร่วมกับชุมชน
การใช้กรอบแนวคิดของการดูแลที่สมบูรณ์แบบครอบคุลม 5 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการดูแลสุขภาพ (Health) จะต้องมีการส่งเสริม การป้องกัน การดูแลทางการแพทย์ การฟื้นฟูสภาพ และดูแลอุปกรณ์การช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยควรได้รับ เช่น อุปกรณ์การช่วยฟังในผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการได้ยิน อุปกรณ์การช่วยฝึกพูด เป็นต้น (2)สนับสนุนให้ผู้ป่วยได้รับการศึกษา (Education) ที่สมวัยตามเกณฑ์การศึกษาขั้นพื้นฐาน ในระดับประถม มัธยมศึกษา หรือสูงกว่า การศึกษานอกโรงเรียน และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามระดับสติปัญญาโดยการประเมินพัฒนาการและไอคิวร่วมด้วย (3) ด้านดำรงชีวิต (Livelihood) สนับสนุนให้มีการพัฒนาทักษะ การสร้างงานด้วยตนเอง การได้รับการจ้างงาน สวัสดิการด้านการเงิน และการป้องกันทางสังคม โดยจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็น ให้สามารถเข้าถึงแหล่งช่วยเหลือต่าง ๆ และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างเท่าเทียมได้ (4) ส่วนด้านสังคม (Social) ควรมีการสนับสนุนจิตสาธารณะในการช่วยเหลือคนอื่นหรือตอบแทนคืนสังคม ความสัมพันธ์ด้านชีวิตสมรสและครอบครัว ด้านศิลปวัฒนธรรม สันทนาการและการกีฬา และการได้รับความเป็นธรรม สิ่งที่กล่าวมานี้หากผู้ป่วยได้รับการสนับสนุนทางสังคมที่ดี จะทำให้ใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป (5) สำหรับด้านการเสริมพลังอำนาจ (Empowerment) ต้องสนับสนุนให้มีการสื่อสารและการรณรงค์ การขับเคลื่อนชุมชน การดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มพึ่งพาตนเอง และองค์กรคนพิการ เพื่อให้ผู้ป่วยมีศักยภาพและมีพลังในการขับเคลื่อน และแสดงออกทางสังคมกับชุมชนได้
การดูแลที่สมบูรณ์แบบ (Comprehensive Care) จะเกิดขึ้นได้ต้องมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเริ่มจากโรงพยาบาลหรือศูนย์การดูแลเฉพาะทาง ชุมชน สังคม องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อจัดโครงการหรือสร้างโอกาสให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการดูแลที่สมบูรณ์แบบอย่างต่อเนื่องตลอดไป